วันเสาร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2557

สหภาพยุโรป

สหภาพยุโรป (European Union : EU)

ที่มา

สัญลักษณ์ของสหภาพยุโรป
             หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ยุโรปอยู่ในสภาพที่มีความเสียหายอย่างหนักในทุกด้าน จึงทำให้มีผู้นำทางการเมืองเกิดแนวความคิดที่จะสร้างอนาคตที่มีสันติภาพ อย่างถาวร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรองดองกันระหว่างสองรัฐที่เคยได้ทำสงครามที่สร้างความหายนะแก่ทั้งทวีป คือ ฝรั่งเศส กับเยอรมนี แต่ในขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายที่จะสร้างความเป็นเอกภาพระหว่าง ประชาชนชาวยุโรปในอนาคตด้วย จึงได้นำไปสู่การจัดตั้ง ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (European Coal and Steel Community : ECSC) ซึ่งแรกเริ่มมีประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ การจัดตั้งประชาคมเพื่อบริหารทรัพยากรดังกล่าวจึงเสมือนเป็นก้าวแรกที่จะทำให้สงครามระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีก ต่อมาผู้นำประเทศทั้ง 6 ได้ร่วมกันจัดตั้งองค์การป้องกันยุโรป (European Defence Council : EDC) ขึ้นอีกองค์การ แต่ EDC ก็ไม่สามารถดำเนินงานไปได้ ประเทศสมาชิกทั้ง 6 จึงมอบหมายหน้าที่ให้สภาของ ECSC เตรียมโครงการจัดตั้งประชาคมการเมืองยุโรป (European Political community : EPC) ขึ้น แต่ก็ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง ดังนั้น EPC จึงต้องเลิกล้มโครงการไป ต่อมา ก็เปลี่ยนแนวทางจากการรวมตัวทางการเมืองมาเป็นการรวมตัวทางเศรษฐกิจแทน และได้ร่วมมือกันก่อตั้งกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจยุโรป หรือตลาดร่วมยุโรป (The European Economic Community : EEC ) และประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป หรือยูเรตอม (European Atomic Energy Community : EAEC หรือ Euratom) ขึ้น การก่อตั้งองค์การทั้ง 2 นี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และต่อมาจึงมีการรวมองค์การบริหารของ ECSC, EEC และ EAEC เข้าด้วยกัน ใช้ชื่อว่า ประชาคมยุโรป (European Community : EC) เพื่อผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2536 EC เปลี่ยนชื่อเป็น สหภาพยุโรป (European Union : EU) เพราะนอกจากจะร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังร่วมมือกันทางด้านการเมืองระหว่างประเทศสมาชิกด้วย

สัญลักษณ์

มีลักษณะเป็นดาวสีทอง 12 ดวง ล้อมกันเป็นวงกลมบนพื้นสีน้ำเงิน วงกลมหมายถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวยุโรป จำนวน 12 ดวงของดาวสื่อถึงความครบถ้วนและสมบูรณ์แบบตามวัฒนธรรมยุโรป เช่น 12 เดือนเป็น 1 ปี หรือ 12 ชั่วโมงของหน้าปัดนาฬิกา เป็นต้น

วัตถุประสงค์

1. เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในหมู่ประเทศสมาชิก ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
2. เพื่อยกระดับการดำรงชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในยุโรปให้สูงขึ้น                                                                                
3. เพื่อกำจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน และกำหนดให้ใช้เงินตราสกุลเดียวกัน คือเงินยูโร เพื่อให้การเงินเป็นระบบเดียวกันและใช้เป็นสื่อกลางในการค้าระหว่างประเทศสมาชิก

สถานะและความสำคัญของสหภาพยุโรป

1. เป็นการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดและก้าวหน้าที่สุดในโลก (supranational cooperation) และมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระดับโลก
2. ในด้านเศรษฐกิจ สหภาพยุโรปมี GDP สูง ที่สุดในโลก เป็นตลาดสินค้าและบริการ ตลาดการเงิน และผู้ลงทุนในต่างประเทศที่สำคัญ รวมทั้งมีบรรษัทข้ามชาติระดับโลกเป็นจำนวนมากที่สุด
3. บูรณาการ ของสหภาพยุโรปมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นภายหลังสนธิสัญญาลิสบอนมีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2009 ซึ่งทำให้สหภาพยุโรปมีสถานะทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์ สามารถจัดทำความตกลงกับต่างประเทศ เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศ และเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศได้

รัฐสมาชิก

         
             รัฐสมาชิกสหภาพยุโรป คือประเทศที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ตั้งแต่การก่อตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (ECSC) เป็นต้นมา เดิมทีประเทศก่อตั้งมีเพียง 6 ประเทศ ซึ่งได้มีการขยายสมาชิก โดยที่ครั้งที่ใหญ่ที่สุดเกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ที่มีรัฐสมาชิกเข้าร่วมกว่า 10 ประเทศ ปัจจุบัน สหภาพยุโรปมีรัฐสมาชิกทั้งสิ้น 28 ประเทศ ประกอบไปด้วย ออสเตรีย เบลเยี่ยม บัลแกเรีย โครเอเชีย ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย สเปน สวีเดน และสหราชอาณาจักร
           นอกจากนี้ การต่อรองและเจรจาให้ประเทศอื่นๆ เข้าเป็นสมาชิกยังคงดำเนินการอยู่เรื่อยๆ ขั้นตอนการขยายสหภาพยุโรปนี้บางครั้งเรียกว่าการรวมกลุ่มยุโรป ก่อนที่จะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้นั้น ประเทศนั้นจะต้องผ่านเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองที่รู้จักกันดีในชื่อ "เกณฑ์โคเปนเฮเกน" ซึ่งกำหนดไว้ว่าประเทศที่มีสิทธิเข้าเป็นสมาชิกจะต้องเป็นรัฐาธิปัตย์ ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีองค์กรที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและเคารพต่อกฎหมาย ภายใต้สนธิสัญญาสหภาพยุโรป การขยายสหภาพยุโรปต้องขึ้นอยู่กับข้อตกลงของแต่ละรัฐสมาชิกและผ่านการรับรองจากสภายุโรปอีกด้วย
***ประเทศล่าสุดที่เข้าร่วมสหภาพยุโรป คือ โครเอเชีย เมือวันที่ 1 กรกฎาคม 2556
***มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม      

คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union)

คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission)
รัฐสภายุโรป (European Parliament) 
***ประเทศที่กำลังขอเข้าเป็นสมาชิก มี 5 ประเทศ ได้แก่ มาซิโดเนีย ตุรกี ไอซ์แลนด์ มอนเตรเนโกร และ เซอร์เบีย

ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศไทย

ภาพรวม

           ไทยให้ความสำคัญกับ EU เนื่องจากเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นตลาดขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรประมาณ 500 ล้านคน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศปีละประมาณ 16,000 พันล้านยูโร และเป็นภูมิภาคที่มีอำนาจซื้อสูงที่สุดในโลก EU จึง เป็นยักษ์ใหญ่ในเวทีการค้าโลกที่มีอำนาจต่อรองสูงและมีบทบาทในการกำหนดทิศ ทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นผู้นำด้านกฎระเบียบและนโยบายด้านการค้าและที่มิใช่การค้าที่สำคัญของ โลก (Global Standards Setter)
           ในขณะที่ สหภาพ ยุโรปให้ความสำคัญต่อไทยว่าเป็นหุ้นส่วนสำคัญของสหภาพยุโรปในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในมิติการเมืองและความมั่นคง โดยไทยมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งในกรอบอื่นๆ เช่น อาเซียน-สหภาพยุโรป (ASEAN-EU) และในกรอบ ARF (ASEAN Regional Forum) โดยมีความตกลงระหว่างอาเซียนและประชาคมยุโรป พ.ศ. 2523 เป็นกรอบกฎหมายสำหรับความสัมพันธ์กับประเทศไทย ส่วนในระดับทวิภาคีนั้นได้มีการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการอย่างต่อเนื่องผ่านการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสประชาคมยุโรป-ไทย ซึ่งนำโดยคณะกรรมาธิการจากฝั่งประชาคมยุโรป ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2547 คณะมนตรียุโรปจึงได้อนุมัติระเบียบการเจรจาความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Co-operation Agreement) แบบทวิภาคีกับบางประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังไม่มีความตกลงทวิภาคีกับประชาคมยุโรป ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศดังกล่าว และได้มีการประกาศเจตนารมณ์เพื่อเริ่มต้นการเจรจากับประเทศไทย การริเริ่มเช่นนี้ย้ำให้เห็นถึงความตั้งใจของสหภาพยุโรปในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคีและพันธกรณีในการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศไทย ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการเจรจา
           ยุทธศาสตร์ไทยต่อ EU คือ การเน้นว่าไทยยึดมั่นในคุณค่าประชาธิปไตยและระบบการค้าเสรี เช่นเดียวกับ EU เพื่อให้ EU มีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพและความต่อเนื่องของระบอบการ ปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทยและเพื่อให้เห็น ไทยเป็นหุ้นส่วนหลักในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยในการขยายการค้า การลงทุนการท่องเที่ยว และการรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก EU และเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว

ด้านเศรษฐกิจ

              การค้าระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยมีมูลค่ามหาศาลถึงประมาณ 2.7 หมื่นล้านยูโร (1.15 แสนล้านบาท) ในปี 2553 ทั้งนี้ สหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกอันดับสองของประเทศไทยรองจากอาเซียน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.19 ของการค้าต่างประเทศของไทย โดยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับที่ 4 การนำเข้าสินค้าจาก EU ใน ปี 2554 มีอัตราการขยายตัวเกือบทุกรายการ (สำหรับสินค้านำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก) โดยมีการขยายตัวมากที่สุดในสินค้าประเภทเครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ ส่วนสินค้าที่อัตราการนำเข้าหดตัว คือ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ การส่งออกของประเทศไทยไปยังสหภาพยุโรปมีมูลค่ารวม 1.7 หมื่นล้านยูโร (ประมาณ 7.25 แสนล้านบาท) และเป็นแหล่งส่งออกสินค้าอันดับที่ 3 การส่งออกสินค้าของไทยไป EU ใน ปี 2554 มีทั้งสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวและหดตัว (สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก) โดยมีการขยายตัวมากที่สุดในสินค้าประเภทยางพารา ส่วนสินค้าที่อัตราการส่งออกหดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องนุ่งห่ม ความเข้มแข็งของภาคการส่งออกของไทยทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้ามหาศาลกับสหภาพยุโรป โดยในช่วงปีพ.ศ. 2550-2553 ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับสหภาพยุโรปเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5.5 พันล้านยูโรต่อปี (ประมาณ 2.2 แสนล้านบาท) ประเทศสมาชิก EU ที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ได้แก่ เยอรมนี สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี
           มากกว่าครึ่งหนึ่งของสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favoured Nation - MFN) และการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือเสียภาษีเพียงบางส่วนภายใต้ระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี (Generalized Scheme of Preferences - GSP) ทั้งนี้ ในบรรดาประเทศคู่ค้าของสหภาพยุโรป ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากจีเอสพีเป็นอันดับสองรองจากอินเดีย

บรรณานุกรม

1.http://th.wikipedia.org/wiki/ประวัติศาสตร์ยุโรป 2.http://www.learners.in.th/blog/smarch01/384761 3.http://www.learners.in.th/blog/ppt/362654
4.http://www.facebook.com/note.php?note_id=170196863035403 5.http://www.mfa.go.th/main/th/world/7/19896-%E0%B8%AA%E0%B8%AB%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%9B-(European-Union----EU).html
6.http://eeas.europa.eu/delegations/thailand/eu_thailand/political_relations/index_th.htm 7.http://graduate.kru.ac.th/eduad/dewey/300/ecc2.html
8.http://europa.eu/

ภาพจาก

1.http://eeas.europa.eu/delegations/thailand/what_eu/eu_memberstates/index_th.htm
2.http://en.m.wikipedia.org/wiki/File:European_Union_(blue).svg
3.http://www.thaitextile.org/iu/article_iu.php?id=ARC0121219111323 
4.http://www2.thaiembassy.be/th/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80/%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%AB%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B8/
5.http://www.theguardian.com/business/2010/may/09/debt-crisis-european-union
6.http://supassara24.blogspot.com/